วันอาทิตย์ที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๐ เวลา ๑๔.๓๐ – ๑๘.๓๐ นาฬิกา ณ ห้อง Carnival ศูนย์การประชุม Bangabandhu (BICC) กรุงธากา สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน การคลังและการค้า (Standing Committee on Sustainable Development, Finance and Trade) ในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑๓๖ โดยมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเข้าร่วมประชุม ได้แก่ นายกิตติ วะสีนนท์ นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ และนางเสาวณี สุวรรณชีพ โดยวันนี้เป็นวันที่ ๑ จะเป็นช่วงการอภิปรายรับฟังความคิดเห็นจากประเทศสมาชิก
โอกาสนี้ นายกิตติ วะสีนนท์ ได้ร่วมอภิปรายความคิดเห็นต่อร่างข้อมติเรื่อง “การยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน : การมีส่วนร่วมของสตรีในการหาแหล่งเงินทุนที่จะขับเคลื่อนการพัฒนา” (Promoting enhanced international cooperation on the SDGs, in particular on the financial inclusion of women as a driver of development) โดยกล่าวว่า การส่งเสริมการพัฒนาควรเพิ่มมุมมองในระดับภูมิภาค (regional aspects) ด้วยนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในร่างข้อมติที่มีเพียงระดับประเทศ และระดับนานาชาติ และควรระบุให้ภาคเอกชน (private sector) ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยสตรีให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นหนึ่งใน ๔๔ ประเทศที่จะทำการเข้าร่วมติดตามและทบทวนผลการอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ในระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review -VNR) ที่จะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
จากนั้น นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ ได้กล่าวย้ำถึงความคิดเห็นที่ได้เสนอต่อที่ประชุมสหภาพรัฐสภาสตรีเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๐ ว่าประเทศไทยมีการดำเนินนโยบายและมาตรการสำหรับการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการผ่อนคลายข้อจำกัดและกระบวนการทางการเงิน เพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคทางการเงินในประเทศ อาทิ การจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เพื่อให้สตรีสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา โอกาสในการทำงาน และบริการด้านสุขภาพ รวมถึงการให้ความรู้และความเข้าใจด้านการเงินแก่ผู้บริโภคโดยผ่านสถาบันการเงิน เป็นต้น สภานิติบัญญัติแห่งชาติสนับสนุนความริเริ่มเพื่อประกันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างเสมอภาคและส่งเสริมให้ผู้หญิงดำรงตำแหน่งด้านการบริหารและการตัดสินใจ รวมถึงรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการลงประชามติมีบทบัญญัติเรื่องการจัดทำงบประมาณโดยคำนึงถึงมิติหญิงชายซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน SDGs ในการที่รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมแก่ผู้หญิงและผู้ด้อยโอกาส อีกทั้งประเทศไทยยังมีกฎหมายสำคัญในการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสตรี จำนวน ๓ ฉบับได้แก่
๑. พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. ๒๕๔๘
๒. พระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ. ๒๕๓๔ และ
๓. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ. ๒๕๕๕